เกี่ยวกับเรา
-
Hits: 22252
PISA มาจากคำว่า
Programme for International Student Assessment คือ โครงการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติ ของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ดำเนินการโดย OECD ( Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีการดำเนินการมาจั้งแต่ปี 1999 หรือ พ.ศ.2541 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจากทั่วโลก 65 ประเทศ
ตารางแสดงคะแนนเฉลี่ย PISA ของเด็กไทยในแต่ละปี
ประเทศไทย (Thailand) อยู่ในอันดับที่ 50 (PISA2012) มีคะแนนด้านคณิตศาสตร์ 427 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 494 คะแนน มีคะแนนด้านการอ่าน 441 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 496 คะแนน มีคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ 444 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 501 คะแนน
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในหลากหลายสาขา วิชาเพื่อมาขับเคลื่อนประเทศของเราให้ดีขึ้น วิชาคณิตศาตร์ เป็นวิชาที่สำคัญมากวิชาหนึ่ง เพราะเป็นพื้นฐานของเกือบทุกวิชาที่สร้างความเจริญให้กับสังคมมนุษย์มาช้านาน แต่เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย ซึ่งจะเป็นบุคลากรในอนาคตของประเทศ ที่มีผลประเมินวิชาคณิตศาสตร์ ต่ำจากคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอย่างน่าตกใจ! ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ถึงปัญหา และแนวคิดในการแก้ไขปัญหา ของทีมงานเล็กๆ ทีมหนึ่งในสังคม แต่อาจสร้างผล กระทบระดับประเทศของเราได้ ในรายงานนี้
ทีมงาน แคลคูล
PISA Ranking 2012
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการสภาพการศึกษา
http://www.onec.go.th/onec_web/page.php?mod=Statisticgraph&file=view&itemId=1094
http://blog.eduzones.com/tonsungsook/120382
วิเคราะห์ปัญหา และสถานการณ์ปัจจุบัน
ทุกคนต่างทราบดีว่า การศึกษาคือสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิต และ สังคมดีขึ้น รัฐบาลจึงลงทุนจัดสรร งบประมาณเกี่ยวกับศึกษาเป็นอันดับต้นๆของทุกปี แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ค่อยจะสู้ดีนัก และยิ่งอัตราการสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อที่เข้มเข้นมากขึ้น ทำให้เด็กหลายคนต้องหันมาพึ่งโรงเรียนกวดวิชา ที่ส่งเสริมแต่เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี จนลืมเด็กที่ครอบครัวยากจนซึ่งมีสัดส่วนที่มากในสังคมไทย ยิ่งตอกย้ำให้ฐานะคนในสังคมแตกต่างกันมากขึ้น
และจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำ ยังส่งผลกระทบเรื้อรังต่อผู้ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยอย่างคาดไม่ถึงที่คุณอาจมองข้ามไป อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาให้กับเยาวชนของเราได้
ประเด็นปัญหาหลัก และผลกระทบต่อสังคม
นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมาก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น จากเอกสารสถิติการศึกษาของประเทศไทยปีการศึกษา 2555-2556 สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แสดงให้เห็นว่า การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ของเด็กอายุ 6-14 ปี ปีการศึกษา 2555 มีโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน ร้อยละ 96 หรือประมาณ 7.4 ล้านคน
-แผนภูมิแสดง จำนวนประชากร และนักเรียน นักศึกษาในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2555
จากแผนภูมิแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี จำนวนประชากรสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เป็นจำนวนที่น่าพอใจ แต่เมื่อมีการวัดประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแล้วผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจนักดังตารางต่อไปนี้
-ตาราง แสดงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2550-2554
จากข้อมูลนี้เอง เราอาจจะสรุปได้ว่า ถึงแม้รัฐจะจัดให้มีการศึกษากับประชาชนอย่างทั่วถึงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาในการจัดระบบการเรียนการสอนในหลายราย วิชาให้มีประสิทธิภาพ สังเกตได้จากตัวเลขการประเมินผล สัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ ต่ำมากโดยเฉพาะวิชา คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งผลการประเมินนี้สอดคล้องกับการจัดอันดับในระดับนานาชาติต่าง เช่น
-ไทยอยู่อันดับที่ 50 จาก65ประเทศ จากการประเมิน PISA2011 (Programme for International Student Assessment)
- อันดับที่ 34 จาก52 ประเทศ จากTIMSS2011 (Trend in International Mathematics and Science Study 2011) ดำเนินการโดย IEA (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement) ไทยมีนักเรียนที่มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยอยู่ในระดับ Poor สูงถึง 38%
(ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000150408 )
จากปัญหาการขาดประสิทธิภาพ ในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้เอง ซึ่งทางภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในวงกว้าง เนื่องจากนักเรียนมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ไม่เพียงพอ เช่น
- ขาดแคลนทรัพยากรบุคลากรในแต่ละสาขาอาชีพ ที่ใช้ต้องใช้วิชาคณิตศาสตร์ ระดับสูงในการทำงาน เนื่องจากพื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่แน่น ทำให้ต่อยอดการเรียนรู้ได้ยาก อันเป็นผลอย่างมากในการพัฒนาประเทศ
- การดร็อปเรียนหรือสอบตกในรายวิชาคณิตศาสตร์,แคลคูลลัส ของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย อันเป็นผลให้สูญเสียทรัพยากรเวลาที่ผลิตบุคลากร และเงินทองอย่างมากมายเนื่องมากจากค่าหน่วยกิต และค่าเล่าเรียน
จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่งพบว่า อัตราการดร็อปเรียนวิชาแคลคูลัส ในเทอม 1 ปีการศึกษา 2556 สูงถึง 17% จากนักศึกษาที่ลงเรียนทั้งหมด 3290 คน มีผู้ดร็อปเรียน 553 คน หากคิดค่าหน่วยกิตต่อเทอมคือ 200 บาท นักศึกษาจะเสียเงินรวม โดยไม่จำเป็นจำนวน110,600 บาทไม่นับนักเรียนที่ติด F ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการถูกรีไทร์ และการสูญเสียทรัพยากรเวลาที่ประเมินค่าไม่ได้
นี่เป็นเพียงการคำนวณในกรอบเล็กๆ หากเราคำนวณกรอบใหญ่ระดับประเทศ ที่มีผู้ที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประมาณ 1,700,000 คน (ปีการศึกษา2556) เราคงจะเห็นตัวเลขความสูญเสียอันไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล
*อ้างอิง สำนักทะเบียนและประมวลผล มช. http://www.reg.cmu.ac.th/web2012/ , สถิติการศึกษาประเทศไทย 2555-2556 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอันเนื่องมาจากการศึกษา
เนื่องมาจากสาเหตุของการได้รับความรู้ การเข้าใจในบทเรียนไม่เพียงพอในโรงเรียน แต่การแข่งขันเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ กลับมีความเข้มข้นสูงจนบางครั้ง เราอาจสงสัยว่า การศึกษาไทยกำลังสอนเด็กเพื่อให้รู้ หรือ เพื่อแค่ทำข้อสอบกันแน่ แต่จากปรากฏการณ์นี้เอง ทำให้หลายคนมองเห็นโอกาสในธุรกิจ ที่จะเติมเต็มความรู้ในส่วนที่ขาดของเด็กนักเรียนให้เพียงพอต่อการใช้เข้าสอบ อันเป็นที่มาของการเกิดโรงเรียนกวดวิชาขึ้นเป็นดอกเห็ด ดังที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน แต่ระบบกวดวิชานี้เอง กลับเกลายป็นสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำของเด็กที่มีฐานะดี กับ เด็กที่ยากจน และเด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองกับเด็กที่อยู่รอบนอกอย่างเห็นได้ชัดเจน
-แผนภาพแสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของโรงเรียนกวดวิชา และ ผู้เรียน
*ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ SCB http://www.scbeic.com/THA/document/note_20120717_education/
นักเรียนที่อยู่ในเมืองจะมีโอกาสกวดวิชาสูงกว่าเด็กที่อยู่นอกเมือง โดยกลุ่มในเมืองจะมีถึง ร้อยละ 70 ที่ได้รับการกวดวิชา ส่วนนักเรียนที่อยู่นอกเมืองมีเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น นอกจากนี้ฐานะด้านรายได้ของครอบครัว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นักเรียนจะมีโอกาสได้รับการกวดวิชามากกว่ากันด้วย ข้อมูลที่ได้จึกเป็นการตอกย้ำระบบการ ศึกษา ไทยว่า โอกาสของคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น (ข้อมูลจาก เอกสารสรุปการสัมมนา เรื่อง กวดวิชา : วิกฤตที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ;สำนักคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี)
รายละเอียดโครงการ และ แนวคิดในการแก้ปัญหา
ปัญหาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเนื่องมาจากการศึกษา และ พื้นฐาน ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ต่ำของประชากร อันเนื่องมาจากการเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพที่แตกต่างกันของประชาชน คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคมไทยของเราในปัจจุบัน ซึ่งหลายภาคส่วนกำลังช่วยแก้ปัญหานี้ แต่เนื่องจากสังคมรอบตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบการแก้ปัญหาควรจะมีความทันสมัย และเข้าใจปัญหาจริงๆ เพราะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหลัก คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยี และกำลังจะเป็นหลักที่จะพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
แนะนำโครงการ
ในจุดแรกเริ่มนั้น CalCool Brains Online คือโครงการกิจการเพื่อสังคม ที่ดำเนินงานด้านการศึกษา โดยการสอนวิชาคณิตศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีเว็บไซต์ในยุคเริ่มต้น(2009) คือ www.mistercalcal.com และได้พัฒนาจนมาเป็น www.calcoolacademy ดังในปัจจุบัน
“ถ้า มีคลิปสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่คุณภาพ และเข้าถึงผู้เรียนได้ง่าย แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในสังคมจะลดลง พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ของ เยาวชนจะดีขึ้น เด็กๆที่ยากจนมีโอกาสสอบเข้าเรียนต่อในคณะที่ชอบเท่าเทียมกัน เมื่อเรียนจบมามีงานทำที่ดีทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมาพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป” “แคลคูล” จึงได้จัดทำคลิปสอนคณิตศาสตร์ออนไลน์ขึ้น โดยในเบื้องต้นจะจัดทำคลิปสอนระดับมหาวิทยาลัย หรือวิชา แคลคูลัส และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการของเราได้ เพื่อนำรายได้ไปสร้างสรรค์คลิปดีๆ เพิ่มขึ้น และ สามารถจัดทำคลิปวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับน้องๆ ระดับมัธยมศึกษา ได้ติวหรือทบทวนความรู้ได้ฟรี เพื่อสร้างโอกาสให้กับชีวิตของตนเองและสร้างสังคมของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
ด้วยรูปแบบการสอนที่แปลกแหวกแนวจากกรอบเดิมๆ แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพ สไตล์แคลคูล จึงทำให้ผู้เรียนสามารถเปิดใจรับความรู้จากผู้สอนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจที่จะสร้างสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น แคลคูล จึงมีกระแสตอบรับที่ดีมากจากผู้เรียนและเสียงเรียกร้องจากสังคมที่อยากให้โครงการนี้ดำเนินอยู่ต่อไป
โครงการกิจการเพื่อสังคม
แคลคูล ระบบช่วยเหลือการเรียนคณิตศาสตร์เปลี่ยนประเทศ (CalCool Brains Online )
ด้านสังคม
สร้างวีดีโอคลิปการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์แล้วอัพโหลดสู่อินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนได้อย่างเท่าเทียมกัน
ด้านธุรกิจ
จำหน่ายสื่อการเรียนการสอนราคาถูก และเป็นช่องทางการโฆษณาทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของสินค้าต่างๆ
วิสัยทัศน์
สร้างระบบช่วยเหลือการเรียนคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพชั้นแนวหน้าของประเทศ แต่มีราคาถูกที่สุดสำหรับผู้เรียน และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
-ห่วงโซ่ผลลัพธ์ของโครงการ
บทสรุป
ในภาวะวิกฤตการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากคะแนนสอบประเมิน ผลต่างๆระดับนานาชาติ คะแนนประเมินการสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา ที่ประเทศไทยมีผลคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำอย่างน่าตกใจ อันเนื่องมาจากการเรียนการสอนในระบบที่ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำให้นักเรียนมีความรู้เพียงพอต่อการสอบเรียนต่อเข้าสถาบันต่างๆได้ จึงเกิดระบบช่วยเหลือ คือโรงเรียนกวดวิชา ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและต่อเนื่อง ยิ่งกลับตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากขึ้นอีก
ทีมงาน แคลคูล ได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้จึงอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยการใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรทุกคนอย่างเต็มที่และคุ้มค่ามากที่สุด ที่จะสร้างโครงการกิจการเพื่อสังคม “CalCool Brains Online” หรือ “ ระบบช่วยเหลือการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เปลี่ยนประเทศ” ขึ้นมา ซึ่งทีมงานเห็นว่าเป็นการลงทุนที่น้อย แต่มีประสิทธิภาพ สูงในการสร้างผลกระทบทางสังคม แต่ก็ไม่ลืมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ ในการลงทุนด้านการเงิน โดย จะจัดทำสื่อการเรียนรู้ราคาถูก ที่ใครก็สามารถ เข้าถึงได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งแผนธุรกิจนี้เองจะสร้างรายได้ให้กับองค์กร ที่จะมาขับเคลื่อนโครงการให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของคนในสังคมจะหมดไป คะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ของไทย จะไม่อยู่อันดับท้ายๆ อีกต่อไป ประชากรในประเทศจะมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราให้เจริญ ยั่งยืนทัดเทียบนานาประเทศต่อไป
“ เพราะเราไม่ได้เห็นผู้เรียนว่าเป็นนักเรียน แต่เรามองว่า พวกเขา คือ อนาคต”
เรียบเรียงโดย: พี่ม้า แคลคูล www.facebook.com/calcool
ขอขอบคุณทีมงาน แคลคูล ทุกท่านที่อุทิศตนและเสียสละเวลา เพื่อร่วมสร้างโครงการนี้ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้
- Mr.CalCal CalCool (พี่เสือ) ฝ่ายวิชาการ และ ดูแลหลักสูตร
-พี่ลิง แคลคูล ดูแลฝ่ายไอที และโปรแกรมเมอร์
-พี่กระต่าย แคลคูล อาร์ต และการ์ตูน
-พี่หมี แคลคูล ประสานงานถ่ายภาพ,ภาพนิ่ง
-พี่แฟ้ม แคลคูล สถานที่ , ออกแบบ
-พี่ม้า แคลคูล บริหารโครงการ และ มัลติมีเดีย
ที่ปรึกษาโครงการ
ดร.ปรียานุช โหนแหยม (อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร.วิฑูรย์ พึ่งรัตนา (อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม)
" ขอบคุณน้องๆ ทุกคน และผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ที่ช่วยเป็นแรงผลักดันและกำลังใจให้โครงการของเราสามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ขอขอบคุณจากใจจริงๆ ครับ "